Senin, 28 Desember 2009

ตลาดมอเตอร์ไซค์มะกาหัวทิ่ม ยักษ์ "ฮาร์เลย์" ทุ่มลงทุนอินเดีย

ในขณะที่ตลาดรถยนต์มะกาเริ่มขยับตัว ตามด้วยตลาดบ้านเริ่มหายงัวเงียโซเซสะบัดแข้งขา แต่ยังไม่ถึงขนาดเตะลมชกลมได้ กระนั้น ก็ย่อมเป็นสัญลักษณ์ดี แม้จะเป็นแสงริบหรี่สุดขอบฟ้าก็ยังดีกว่ามืดสนิท คลำทางไม่ถูก

น่าแปลกใจอย่างมากก็คือ ตลาดมอเตอร์ไซค์ที่จมดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ตลอด 3 ไตรมาสปี 2009 ที่น่าห่วงอย่างยิ่งก็คือที่โหดที่สุดมีแนวโน้มว่าปี 2010 จะไม่ดีขึ้น เพียงแต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าอย่าถึง ขนาดเลวกว่าปี 2009 เลย

รายงานของ Motorcycle Industry Council ประมาณยอดขายมอเตอร์ไซค์ในไตรมาส 3 ของปี 2009 ตกลงมากถึง 37.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2008 เมื่อเห็นตัวเลขเราย่อมต้องรู้ว่ายอดขายไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้ายจะเป็นตัวเลขที่ต่ำ ที่ขายดีก็คือไตรมาส 2 และ 3 ที่เป็นดังนี้มิใช่มอเตอร์ไซค์เท่านั้น สินค้า อื่น ๆ ก็ขึ้นลงแบบนี้เหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน

มันจะไม่ตกใจได้อย่างไรก็ตลาด รถมอเตอร์ไซค์นั้นมิใช่เป็นเงินคันละมากมายจนถึงขนาดต้องหยุดชะงัก จะมีแพงก็ยี่ห้อ "ฮาร์เลย์-เดวิดสัน" เท่านั้น จะว่าแพงก็ไม่เชิงเพราะบางรุ่นราคา 15,000 เหรียญ ความจริงก็คือ 2-3 ปีมานี้เศรษฐกิจมะกาไม่ดี ฮาร์เลย์จึงผลิตมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กราคาไม่ถึง 10,000 เหรียญออกมา ได้ยินว่ายอดขายไม่ค่อยดีเนื่องด้วยขนาดใหญ่ราคา 2-3 หมื่นเหรียญนั้นนักเล่นต้องการซื้อมาใช้และโชว์มากกว่า ถ้าจะใช้ขนาดเล็กก็ไปซื้อยี่ห้อยามาฮ่า คาวาซากิ หรือซูซูกิ น่าจะสวยกว่า

ฮาร์เลย์นั้นเป็นมอเตอร์ไซค์คลาสสิก คนที่ซื้อมาใช้นับว่ารักและชอบมันอย่างจริงใจ (แม้จะซื้อมาแล้วไม่ค่อยกล้า เอา ออกมาขี่เพราะกลัวโดนขีด หรือมีบาดแผล) เมื่อตลาดซบเซาฮาร์เลย์ย่อมกระเทือนอย่างมาก
รายได้ของฮาร์เลย์ปีละหลายพันล้านเหรียญ ปีสองปีที่ผ่านมาหายไปเป็นพันล้านเหรียญเพราะกิจการของฮาร์เลย์ถือว่าใหญ่ มีคนงานประมาณ 2,000 คน เงินเดือน เงินชั่วโมงค่อนข้างสูง

เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี การค้าตกต่ำ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การลดค่าใช้จ่ายของบริษัท ฮาร์เลย์จำเป็นต้องลดคนงานลงครึ่งหนึ่ง ต้องขายแผนกมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ Buell และ MV Agusta (อิตาลี) ออกไป แม้จะลด คนงาน ลดค่าใช้จ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่ลดไม่ได้หรือไม่ยอมลดก็คือการโฆษณา ซึ่งในมะกาถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ยิ่งเศรษฐกิจ ไม่ดีอย่างนี้ขืนลดหรือหายไปจากจอทีวี หรือ น.ส.พ. คนจำนวนมากอาจเข้าใจได้อย่างเดียว คือ ธุรกิจนั้น ๆ จบสิ้นแล้ว เจ๊งแล้ว

ยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าดังยี่ห้อ Macy"s เข้าใจสถานการณ์ตกต่ำได้ดีเยี่ยม เมซี่ทุ่มโฆษณาลงใน น.ส.พ.แอลเอ.ไทม์เดือนละเกือบ 100 หน้า บางวัน 15 หน้า บางวัน 8-10 หน้า ธุรกิจอื่น ๆ ก็เช่นกัน ยิ่งเป็นฉบับวันอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ในตัว น.ส.พ. หรือโฆษณาแทรกมีเป็นกะตั้ก หนา 2-3 นิ้ว เพราะเล่มวันอาทิตย์มีคูปองลดราคาเกือบทุกหน้า สินค้าลดราคาหลายเปอร์เซ็นต์

แอลเอ.ไทม์ เผยว่า ตั้งแต่ปี 1992-2006 ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ในมะกามียอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี มาเริ่มลดลงในปี 2007 มาจากพวกสกูตเตอร์ที่ยอดขายหายไป (ใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา) รวม 62 เปอร์เซ็นต์ และพวก Sport Bike หายไป 51 เปอร์เซ็นต์ กระนั้นก็ดียอดขายรวมของมอเตอร์ไซค์ยังเกิน 1 ล้านคัน

ยักษ์ใหญ่ฮาร์เลย์นั้นไม่ค่อยสนใจ ตลาดต่างประเทศเท่าไร ผมคิดว่าเป็นเพราะมะกาประเทศเดียวก็เหลือกินแล้ว (หรือสนองจนเต็มไม้เต็มมือแทบไม่ทัน) เศรษฐกิจซบเซาคราวนี้ร้ายแรงมาก ร้ายขนาดที่ฮาร์เลย์ถึงกับต้องหาทางเปิดตลาดในอินเดีย จีน และยุโรป เพราะเศรษฐกิจของประเทศทั้งหลายนอกจากมะกาแล้วไม่ค่อยกระทบเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์

ปัจจุบันยอดขายของฮาร์เลย์ในต่างประเทศมีประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ ฮาร์เลย์ต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ภายใน ปี 2014 โดยมุ่งไปที่ตลาดอินเดียเป็นอันดับที่ 1 และจีนเป็นอันดับที่ 2 เพราะรู้ว่าประชากรของทั้ง 2 ประเทศนี้ มีกำลังซื้อ เข้มแข็งมาก ตรงข้ามมะกาที่มีการปลดคนงานออกจำนวนมาก แล้วจะซื้อรถได้อย่างไร

ไตรมาส 3 ของปี 2009 ฮาร์เลย์มีผลกำไร 26.5 ล้านเหรียญ ในขณะที่ในไตรมาสเดียวกันปี 2008 มีผลกำไร 166.5 ล้านเหรียญ คิดเป็นรายได้ลดลง 21 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินรายได้ 1.12 พันล้านเหรียญ เพราะยอดขายหรือจำนวนมอเตอร์ไซค์ในมะกาหายไป 24 เปอร์เซ็นต์ และยอดขายในต่างประเทศทั่วโลกลดลงประมาณ 6 หมื่นคัน

ในอินเดียฮาร์เลย์เป็นมอเตอร์ไซค์ชั้นดีเปรียบเทียบกับรถยนต์ชั้นสูงในอินเดียที่นิยมใช้เบนซ์ ออดี้ และโรลสรอยซ์ มานานหลายปี โดยมีคู่แข่งเช่น จากัวร์ และแลนด์โรเวอร์ ตามประกบคอยฉกชิงลูกค้า ซึ่งวงการตลาดของอินเดียคาดว่าถ้าคู่ชิงใหม่สู้จริงแบบไม่ถอยหรือมีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพไม่แพ้กันละก็ คอยดูคอยชมเถอะน่าดูแน่

ตลาดมอเตอร์ไซค์ (ชั้นค่อนข้างดี) ในอินเดียก็คือ มอเตอร์ไซค์ของบริษัท Bajaj ขนาดเครื่องยนต์ 180 ซีซี ซึ่งคนอินเดียว่ามันเป็นมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะกับการสัญจรไปมาบนถนน ไอ้การที่จะซื้อพวกฮาร์เลย์มาใช้นั้นคงจะทำได้ยากเพราะคนอินเดียส่วนมากเป็นคนจน แต่คนอินเดียมีกว่า 1 พันล้านคน คนที่จะซื้อมอเตอร์ไซค์แพงขนาดยี่ห้อ "ฮาร์เลย์" นั้นก็ต้องมีแน่ คิดกันหยาบ ๆ ก็คงเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งแม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลอินเดียกำลังจะขึ้นภาษีมอเตอร์ไซค์หรือเก๋งหรูนั่นก็มิได้เป็นอุปสรรคอะไรสำหรับเศรษฐี (หรือเศรษฐีหน้าไหน ชาติไหน) เพราะถือว่าเป็นเงินเล็กน้อย ถ้าเกิดกำหนัดอยากได้ฮาร์เลย์เขาก็ต้องหาซื้อมันมาปลดกำหนัดได้

คนอินเดียทั่ว ๆ ไปมีเงินรายได้ต่ำกว่า 1 พันเหรียญต่อปี รถที่เขาใช้กันก็คงไม่ผิดกับคนไทย คือ ใช้มอเตอร์ไซค์ และสกูตเตอร์นั่งได้ 2 คน (สู้คนไทยไม่ได้ที่นั่งพ่อแม่ลูกได้ 3-4 คน) ในราคาคันละไม่เกิน 1,500 เหรียญ ซึ่งเขาจะซื้อยี่ห้อบาจาจ เครื่องยนต์ 188 ซีซี หรือจะซื้อของฮอนด้าเครื่องยนต์ 150 ซีซี ก็เลือกเอาเอง ที่แน่ ๆ ก็คือไม่มีสิทธิ์ซื้อฮาร์เลย์ได้เพราะของฮาร์เลย์อย่างต่ำเครื่องยนต์ 500 ซีซีก็แพงนะ ซื้อไม่ได้ ไม่มีเงิน

นั่นมิได้เป็นปัญหา เพราะจุดใหญ่ของฮาร์เลย์อยู่ที่การแนะนำเปิดตัวให้คนอินเดียรู้จัก เข้าทำนองว่าเศรษฐีอินเดียซื้อฮาร์เลย์ใช้ คนจนซื้อบาจาจหรือฮอนด้ามาใช้ มีเงินน้อยซื้อของถูก ฮาร์เลย์เห็นว่าการที่คนอินเดียได้เห็นฮาร์เลย์วิ่งฉลุยนั้นสำคัญกว่าสิ่งใด เพราะจะมีการพูดกันต่อ ๆ ไปว่าฮาร์เลย์เป็นมอเตอร์ไซค์ที่ดีที่สุด ดีสมราคา แล้วมันจะมีจำนวนมากขึ้นเอง ใจเย็น ๆ

รายงานของ Society of Indian Automobile Manufactures เผยออกมาเกี่ยวกับจำนวนมอเตอร์ไซค์และสกูตเตอร์ในอินเดีย ดูปี 2007 ขายได้เกือบ 8 ล้านคัน ปี 2009 เพียง 9 เดือนขายได้แล้วประมาณ 7 ล้านคัน ผมคิดว่าถึงสิ้นปีอาจฟาดกว่า 8 ล้านคัน เพราะคนอินเดียมีเศรษฐีเพิ่มขึ้น ๆ

ฮาร์เลย์ในมะกาลดการผลิตลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ มีการเจรจาตกลงให้คนงานออกประมาณ 1 พันคนพร้อมเงินชดเชย แล้วลงทุนเปิดตลาดใหญ่ในต่างประเทศทั่วโลก จะเป็นเศรษฐีใหญ่ขนาดไหน ไว้ก็รู้เอง

เพิ่มเติม http://www.thannews.th.com/

Tidak ada komentar:

Posting Komentar